เรื่องเด่น&ข่าว

งานวิจัยเผยตำรวจจราจรเจอสารพัดปัญหากระทบประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

      ดร.นัทธี จิตสว่าง และทีมงานนักอาชญาวิทยา เปิดเผยถึงงานวิจัย เรื่อง “ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษและปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจร” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาและสาเหตุในการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจร ในขั้นตอนตั้งแต่การจับกุม การออกใบสั่งและการชำระค่าปรับ การสอบสวน การฟ้องศาล การลงโทษตามกฎหมาย และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรในรูปแบบของมาตรการทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้การศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิและแบบง่ายจาก สถานีตำรวจที่สังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาลทั้ง 9  แห่ง แห่งละ 2 สถานี  และสังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร รวมเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน100คนและการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการ รวม จำนวน 20 คน

 

        ผลการศึกษาพบว่าการบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจร นั้นมีปัญหาเริ่มตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือนรวมทั้งการจับกุมผู้กระทำผิด  การออกใบสั่งและการไม่ยอมชำระค่าปรับ และยังขาดมาตรการบังคับให้ชำระค่าปรับที่เด็ดขาดเนื่องจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น รวมทั้งขาดมาตรการในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรภายหลังถูกพิพากษาคดีเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้รถใช้ถนนของประชาชนทั่วไปขาดวินัย เนื่องจาก ความเป็นสังคมเมืองของกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณรถจำนวนมากและต้องเร่งรีบต่อการใช้รถใช้ถนน และเมื่อการบังคับใช้กฎหมายยังขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอก็ทำให้ผู้ใช้รถขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างละเมิดกฎจราจรแล้วได้ประโยชน์สามารถฝ่าฝืนกฎแซงคิวเบียดแทรกแล้วไม่ถูกลงโทษ ผู้ใช้รถจึงไม่เกรงกลัวกฎหมายเนื่อจากการบังคับใช้กฎหมายยังขาดความเด็ดขาดและต่อเนื่องสม่ำเสมอในส่วนนี้เป็นเพราะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องประสบปัญหาหลายประการโดยต้องเผชิญหน้ากับตัวผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้กระทำผิดกฎจราจร  ซึ่งปัจจุบันเริ่มที่จะมีการโต้เถียงและเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่มากขึ้น โดยมีการบันทึกภาพเป็นเครื่องมือหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ถูกท้าทายหรือมีการอ้างผู้มีอำนาจข่มขู่เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังอาจประสบอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกทำร้ายจากผู้ขับขี่ เช่นกรณีเด็กแว๊นขับรถพุ่งชนการขาดอัตรากำลังและงบประมาณ ก็เป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่ตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเอง ก็ประสบปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตและปัญหาภาพพจน์และการยอมรับกับประชาชนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยบางส่วน

 

      ดังนั้นจึงควรมี การปลูกฝังระเบียบวินัยและวัฒนธรรมการเคารพกฎจราจรให้แก่ประชาชนในประเทศโดยเริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนและสถานศึกษาและโรงงานต่างๆ โดยมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎจราจร โดยให้มีการลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมการกระทำผิดหรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้มีความรุนแรงและแน่นอนมากขึ้น โดยการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทษปรับ การนำมาตรการการตัดแต้มคะแนนมาใช้อย่างจริงจัง และจัดให้มีการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังซึ่งรวมถึงการปรับแก้กฎหมายและการจัดตั้งศาลจราจร การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกล้องวงจรปิดและกล้องติดรถยนต์เพื่อทดแทนการใช้กำลังตำรวจจราจรประจำจุดต่างๆ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ความผิดของผู้ละเมิดกฎจราจรโดยใช้การออกใบสั่งทางไปรษณีย์ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกับผู้ใช้รถและทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามกฎจราจรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การสร้างวินัยจราจรอีกทางหนึ่ง

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.